Logo - NECTEC and Backto NECTEC HomepageIT Digest : Back to Homepage of IT Digest


  Vol 2 No 22 (16 November 2005)
  A biweekly newsletter from NECTEC to information technology leaders in Thailand.

เรื่องประจำฉบับ

22201 แบตเตอรี่จิ๋วช่วยกระตุ้นระบบประสาท

22202 ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สกำลังแจ้งเกิด

22203 RFID เรื่องหมู หมู

แบตเตอรี่จิ๋วช่วยกระตุ้นระบบประสาท

ปัจจุบันได้มีการนำแบตเตอรี่ลิเทียมขนาดเล็กมาใช้ในวงการแพทย์ โดยนำมาใช้เป็นแหล่ง พลังงานของอุปกรณ์การแพทย์ ประเภทเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ที่ฝังไว้ในร่างกายของคนไข้ ที่มีปัญหาเกี่ยวกับ ระบบประสาทถูกทำลาย หรือถูกกระทบกระเทือน เช่น ผู้ป่วยโรคพาร์คินสัน โรคลมบ้าหมู หรือผู้ป่วยที่มีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ โดยแพทย์จะใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้านี้ เพื่อช่วยให้ระบบประสาทกลับมาทำงานได้อีกครั้ง แบตเตอรี่ที่ใช้กับเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าดังกล่าว ได้ถูกออกแบบมาให้สามารถทำงานได้อย่างเที่ยงตรงและใช้งานได้นานหลายปี

แต่อย่างไรก็ดีแบตเตอรี่แบบเดิมนั้นยังมีข้อเสียคือ เมื่อแบตเตอรี่หรืออุปกรณ์หมดอายุการใช้งาน แพทย์จะต้องทำการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์หรือแบตเตอรี่ใหม่เพื่อที่จะทำให้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ฝังไว้ใน ร่างกายของผู้ป่วยสามารถทำงานได้อย่างปกติ นอกจากนั้น แบตเตอรี่ยังต้องมีขนาดที่เล็กมากๆ เนื่องจาก หากอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระตุ้นระบบประสาทมีขนาดใหญ่จะส่งผลทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนในร่างกายเสียหายได้

ด้วยข้อจำกัดที่กล่าวมาข้างต้น ศาสตราจารย์โรเบิร์ต เวสต์ นักวิจัยด้านเคมี แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน และทีมงานจึงได้ร่วมกันพัฒนาอิเล็กโตรไลต์ (electrolyte) ซึ่งเป็นของเหลวที่นำไฟฟ้า ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักที่สำคัญของแบตเตอรี่ รวมทั้งในส่วนของออแกนโนซิลิคอน (organosilicon) จนกระทั่งได้แบตเตอรี่ลิเที่ยมที่มีความยืดหยุ่นสูง มีเสถียรภาพในการทำงาน ไม่ติดไฟ และไม่เป็นพิษต่อร่างกาย เนื่องจากเป็นส่วนประกอบที่ได้จากซิลิคอนและส่วนประกอบอื่นๆ จากธรรมชาติ นอกจากนี้ แบตเตอรี่ ลิเทียมชนิดใหม่นี้ ยังสามารถชาร์จพลังงานได้ และมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าเดิมถึงสองเท่า แบตเตอรี่ชนิดใหม่นี้ สามารถนำไปใช้ได้กับเครื่องกระตุ้นที่มีขนาดเล็กมากๆ เนื่องจากมีขนาดพอๆ กับไส้ดินสอ จึงสามารถฉีดเข้าไปใกล้บริเวณเส้นประสาทได้

จากเทคโนโลยีของแบตเตอรี่ลิเทียมดังกล่าว ทำให้สามารถผลิตแบตเตอรี่ที่มีขนาดเล็กลงและใช้งานได้นานขึ้น โดยในอนาคตทีมวิจัยจะพัฒนาให้สามารถชาร์จไฟจาก ภายนอกร่างกายได้โดยไม่ต้องอาศัยการผ่าตัด และนอกจากนำไปใช้สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์แล้ว แบตเตอรี่ลิเทียมดังกล่าวยังนำไปใช้ในอุปกรณ์อื่นๆ ได้อีกหลายอย่างตั้งแต่อุปกรณ์ในยานอวกาศจนถึงเครื่อง iPods

แบตเตอรี่ลิเทียม
ภาพแสดง แบตเตอรี่ลิเทียมชนิดใหม่
ที่มา:www.sciencedaily.com

ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สกำลังแจ้งเกิด

การรุกตลาดของซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในเมืองไทย โดยเฉพาะเมื่อซิป้า (SIPA) และเนคเทค เปิดตัวโอเพนออฟฟิศ 2.0 (OpenOffice 2.0) ที่พัฒนาจาก OpenOffice.Org ไปเมื่อเดือนตุลาคม 2548 เท่านั้น แต่ในเดือนเดียวกันบริษัทยักษ์ใหญ่สองรายคือ บริษัทซัน ไมโครซิสเต็มส์ (Sun Microsystems, Inc.) และบริษัทกูเกิ้ล (Google Inc.) ยังประกาศว่า จะร่วมกันกระจาย และเผยแพร่ความรู้ ทางเทคโนโลยีซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ที่บริษัทเป็นเจ้าของให้กับผู้ใช้ทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้งาน the Sun JRE (Java Runtime Environment), ทูลบาร์กูเกิ้ล (Google toolbar), และโอเพน-ออฟฟิศ (OpenOffice.Org) มีความสะดวก และมีความอิสระ ในการใช้ประโยชน์จาก ซอฟต์แวร์เหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ การตัดสินใจในการกระจายและเผยแพร่ความรู้ครั้งนี้ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ในอนาคต ผู้ใช้สามารถ พัฒนาซอฟต์แวร์ประยุกต์อะไรก็ตาม ที่ผู้ใช้ต้องการได้อย่างอิสระ หรือสามารถกำหนดให้ ซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่พัฒนาขึ้น มีคุณสมบัติรองรับงานหลายรูปแบบได้พร้อมกัน

นอกจากนี้ ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือของทั้งสองบริษัทดังกล่าว บริษัทซัน ไมโครซิสเต็มส์จะเพิ่มทูลบาร์กูเกิ้ล ให้เป็นทางเลือกแก่ผู้ดาวน์โหลด the Sun JRE (ที่ http://java.com) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สนับสนุนการใช้งานซอฟต์แวร์ประยุกต์ประเภทต่างๆ ที่พัฒนาบนเทคโนโลยีจาวาซึ่งในปัจจุบันมีการใช้งานกันอยู่ไม่น้อย โดยสามารถยืนยันได้จากสถิติการดาวน์โหลด the Sun JRE ที่มีถึง 20 ล้านครั้งต่อเดือน

การทำงานร่วมกับบริษัทกูเกิ้ล และ บริษัทซัน ไมโครซิสเต็มส์ในครั้งนี้จะทำให้เทคโนโลยีของบริษัทซัน ไมโครซิสเต็มส์ กระจายตัวไปอย่างกว้างขวางและเข้าถึงผู้ใช้งานได้มากขึ้นผ่านระบบเน็ตเวิร์ก (โดยความร่วมมือกับกูเกิ้ล) โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต ที่ถือว่าเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมและเศรษฐกิจโลก

OpenOffice.org Logo

คราวนี้ลองหันกลับมาดูโอเพนออฟฟิศ 2.0 ที่เพิ่งเปิดตัวในบ้านเรากันบ้างว่าเป็นอย่างไร ก่อนหน้านี้คนไทยรู้จักโปรแกรมโอเพนซอร์สชุดออฟฟิศอยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น ปลาดาวออฟฟิศ และออฟฟิศทะเล ซึ่งมีหน้าตาแตกต่างจากไมโครซอฟต์ออฟฟิศจากค่ายผลิตซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ (proprietary software) อยู่บ้าง ทำให้ผู้เริ่มใช้งานหลายท่านให้ความเห็นว่าไม่คุ้นเคยในตอนที่เริ่มใช้ อีกทั้งยังมีความไม่สะดวกในการแลกเปลี่ยนเอกสารกับโปรแกรมไมโครซอฟท์ออฟฟิศ แต่มาวันนี้โอเพนออฟฟิศ 2.0 ที่ ถูกพัฒนาขึ้นใหม่นี้ ได้นำจุดอ่อนเหล่านี้มาทำให้เป็นลักษณะเด่นของโปรแกรม กล่าวคือ มีการพัฒนาให้มีหน้าตา และการใช้งานคล้ายคลึงกับซอฟต์แวร์ออฟฟิศที่เป็นที่นิยม อีกทั้งยังสามารถแลกเปลี่ยนเอกสารกับไมโครซอฟท์ออฟฟิศได้ด้วย

สำหรับโปรแกรมในชุดโอเพนออฟฟิศ 2.0 ประกอบด้วย ไรท์เตอร์ (Writer) หรือโปรแกรมเวิร์ดโปรเซสเซอร์, แคล (Calc) หรือโปรแกรมสเปรดชีต, อิมเพรส (Impress) หรือโปรแกรมนำเสนอ และ ดรอว์ (Draw) หรือโปรแกรมวาดภาพ โปรแกรมเหล่านี้ถูกพัฒนาให้รองรับมาตรฐาน Open Document Format ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบเปิดที่ เป็นสากลในฟอร์แมท XML ที่ถูกกำหนดโดย OASIS ซึ่งเป็นสมาคมกำหนดมาตรฐาน

OpenOffice.org Writer Screen
รูปแสดงหน้าจอของโปรแกรม Writer ในชุด
โอเพนออฟฟิศ ซึ่งมีหน้าตาคล้ายคลึงกับโปรแกรม Word ในชุดไมโครซอฟท์ออฟฟิศ

อย่างไรก็ดีโอเพนออฟพิศ 2.0 ยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่เล็กน้อยในการรองรับการใช้งานในระบบภาษาไทย ซึ่งขณะนี้นักพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สของไทย รวมทั้งเนคเทคกำลังพยายามพัฒนาให้ดีขึ้น และคาดว่าในเวลาอันใกล้ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป

สำหรับผู้ที่สนใจโอเพนออฟฟิศ 2.0สามารถดาวน์โหลดที่ http://th.openoffice.org/ โดยไม่มี ค่าใช้จ่ายใดๆ ดังนั้นเมื่อเทียบกับเงินที่ท่านต้องจ่ายเพื่อซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์อย่าง MicroSoft Office Standard 2003 ซึ่งราคาตกประมาณกล่องละ 24,500 บาท(กรุงเทพธุรกิจ, 2548)ก็นับว่าคุ้มค่า และสำหรับองค์กรที่มีบุคลากรจำนวนมากซึ่งในแต่ละปีต้องเสียค่าซอฟต์แวร์ปีละจำนวนมากๆ การหันกลับมาใช้ โอเพนออฟฟิศก็เป็นทางเลือกที่คุ้มค่า

จากความสะดวกในการใช้งานและการเข้าถึงซอฟต์แวร์ที่ได้พัฒนาให้ดีขึ้น รวมทั้งความประหยัดที่คาดว่าจะเกิดจากโอเพนออฟฟิศที่เห็นได้ง่ายๆ นี้ จึงไม่แปลกใจที่ข้อมูลจาก www.infoworld.com ได้ให้ข้อสรุปว่า "ในอนาคตถึงแม้โอเพนออฟฟิศจะไม่สามารถแทนที่ไมโครซอฟท์ออฟฟิศเสียทีเดียว แต่ก็มีพลังพอที่จะทำให้การเติบโตของไมโครซอฟท์ออฟฟิศช้าลงเมื่อเทียบกับในอดีต"

RFID เรื่องหมู หมู

ในขณะที่กระแสการใช้ RFID กำลังเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันอย่างกว้างขวางในวงการการขนส่ง (logistics) และการจัดการสินค้าคงคล้ง (warehouse) คงมีคนไม่มากที่รู้ว่าระบบ RFID ถูกนำมาใช้กับงานด้านปศุสัตว์ของไทยตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้วโดยฟาร์มเอสพีเอ็ม (SPM Farm) จังหวัดราชบุรี ของคุณสมชาย นิติกาญจนา เพื่อควบคุมการให้อาหารแม่พันธุ์หมูในฟาร์ม โดยระบบดังกล่าวช่วยให้ฟาร์มลด ต้นทุนอาหารและทำให้แม่พันธุ์หมูมีสุขภาพที่ดีไม่อ้วนหรือผอมเกินไป เนื่องจากได้รับอาหารในปริมาณที่เหมาะสม

สาเหตุที่มีการนำระบบ RFID มาใช้ในฟาร์มแห่งนี้ก็เนื่องมาจาก ฟาร์มเอสพีเอ็มได้เปลี่ยนวิธีการเลี้ยงแม่พันธุ์หมูจากการเลี้ยงในกรงตับ (หรือกรงแบบขังเดี่ยว เรียงเป็นแถว) มาเป็นการเลี้ยงรวมในพื้นที่กว้าง ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดความเครียดให้แม่หมูแทนการถูกขังในกรงตับแบบแคบๆ อีกทั้งยังช่วยให้ แม่หมูสามารถเดินออกกำลังกายได้อีกด้วย ซึ่งการเลี้ยงรวมในพื้นที่กว้างขึ้น จำเป็นต้องดูแลระบบการให้อาหารอย่างทั่วถึง และในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อควบคุมคุณภาพของแม่หมู นอกจากนั้นปัจจัยอีกประการ ก็เนื่องจากค่าแรงงานที่เลี้ยงหมูเริ่มหายากและค่าแรงแพงขึ้น ดังนั้นฟาร์มเอสพีเอ็มจึงตัดสินใจนำระบบ RFID เข้ามาช่วยในระะบบการให้อาหารแทนคนเลี้ยง โดยลงทุนจัดซื้อระบบ RFID ในครั้งแรกประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยป้าย (tag) เครื่องอ่าน (reader) รวมทั้ง ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และระบบข้อมูล (middleware)

ป้าย RFIDที่บรรจุข้อมูลเกี่ยวกับอายุของหมูน้ำหนัก การให้ลูก ปริมาณอาหารที่ควรจะได้รับในแต่ละวันจะถูกติดไว้ที่ใบหูของแม่พันธุ์หมู เมื่อแม่พันธุ์เดินเข้าไปถึงรางอาหารภายในคอกให้อาหาร เครื่องอ่านที่รางให้อาหารจะอ่านข้อมูลจากป้าย แล้วส่งข้อมูลไปยังระบบควบคุม เพื่อให้เครื่องให้อาหารปล่อยอาหารออกมาให้แม่หมูตามปริมาณที่ตั้งไว้ เมื่อแม่หมูกินจนพอหรือได้ตามปริมาณที่ตั้งไว้ แม่หมูจะเดินออกไปในทางออกในปลายอีกด้านของคอกให้อาหาร หลังจากนั้นแม่หมูตัวใหม่ก็จะเดินเข้ามา

รูปแสดงแม่พันธุ์หมูที่ติดป้าย RFID ไว้ที่หู
รูปแสดงแม่พันธุ์หมูที่ติดป้าย RFID ไว้ที่หู

รูปทางเดินแบบเข้า-ออกทางเดียวสำหรับเข้าไปกินอาหารซึ่งมีเครื่องอ่านป้าย RFID ติดอยู่ภายใน
รูปทางเดินแบบเข้า-ออกทางเดียวสำหรับเข้าไปกินอาหารซึ่งมีเครื่องอ่านป้าย RFID ติดอยู่ภายใน

สำหรับในอนาคต ฟาร์มแห่งนี้วางแผนว่าจะนำระบบ RFID ไปใช้กับระบบทดสอบหมูเพื่อคัดเลือกเป็นพ่อพันธุ์ หรือแม่พันธุ์หมู ระบบทดสอบหมูนี้จะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการ กินอาหาร น้ำหนัก ประกอบกับ ประวัติการให้ลูก และการเป็นโรค แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อหาหมูที่จะเหมาะจะเป็นพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์ที่มี คุณสมบัติกินอาหารน้อย ให้ลูกมาก และทนต่อโรค

ปัจจุบันถึงแม้ระบบ RFID จะยังมีการใช้งานไม่กว้างขวางในอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และ ปศุสัตว์ของไทยเนื่องจากระบบ RFID ยังมีราคาแพง อีกทั้งในประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายบังคับเกี่ยวกับการตรวจสอบอาหารย้อนกลับ (food traceability) เช่นในบางประเทศ แต่อย่างไรก็ดี การตรวจสอบอาหารย้อนกลับ กำลังเริ่มถูกบังคับจากระเบียบการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ดังนั้นขณะนี้จึงทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร เริ่มสนใจที่จะนำ RFID ไปทดสอบและใช้งาน ยกตัวอย่างเช่นในการเลี้ยงและขนส่งจากฟาร์มกุ้งไปยังโรงงานแปรรูป เป็นต้น

ที่มา:
22201:

22202:

22203:

--------------------------------------------------------

IT Digest เป็นวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำขึ้นเผยแพร่โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ที่ปรึกษา: ทวีศักดิ์ กออนันตกูล และ ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล บรรณาธิการบริหาร: กัลยา อุดมวิทิต กองบรรณาธิการ: จิราภรณ์ แจ่มชัดใจ, ถวิดา มิตรพันธ์, พรรณี พนิตประชา, อภิญญา กมลสุข, อลิสา คงทน และ จินตนา พัฒนาธรชัย
สงวนลิขสิทธิ์ (c) 2548 โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สวทช. การนำไป ตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในสื่ออื่นจะทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้น

ผู้รับผิดชอบ งานศึกษายุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ECTI โทร. 02-564-6900 ต่อ 2363 
Mail to IT Digest

สงวนลิขสิทธิ์ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 11120
โทร.02-564-6900 ต่อ 2346 - 2355
Mail to Web Master

Valid HTML 4.01 Transitional Valid CSS! Level A Conformance to Web Content Accessibility Guidelines 1.0 พัฒนาด้วย CSS Technology